อินทรียวัตถุในดิน: หัวใจห้องหนึ่งของดิน

หัวใจของคน-หัวใจของดิน

คนเรามีหัวใจ 4 ห้องและทุกห้องต้องทำหน้าที่หมุนเวียนโลหิตเพื่อหล่อเลี้ยงทุกอวัยวะของร่างกาย หากหัวใจห้องหนึ่งทำงานบกพร่องจะทำให้สุขภาพทรุดโทรม ต้องรีบรับการรักษา ดินก็มีหัวใจ 4 ห้องเช่นกัน (ภาพที่1) ทุกห้องมีความสำคัญต่อสมบัติของดินและเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชอย่างมาก จึงควรดูแลให้หัวใจของดินทั้ง 4 ห้องมีขนาดปกติและสภาพดีอยู่เสมอ เพื่อจะได้เป็นดินดีและให้ผลผลิตสูง อย่างไรก็ตาม ดินที่ใช้เพาะปลูกมักถูกละเลยให้หัวใจห้องหนึ่งแฟบลงไปทีละน้อย นั่นคือ “อินทรียวัตถุในดิน”

องค์ประกอบของดินที่เหมาะแก่การปลูกพืชในภาพรวมมีอะไรบ้าง ?
ดินที่เหมาะกับการปลูกพืชมีองค์ประกอบโดยปริมาตร 4 ส่วน เปรียบได้กับหัวใจทั้ง 4 ห้อง คือ

1. สารอนินทรีย์ 45% ได้แก่ ส่วนที่เป็นทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว
2. อินทรียวัตถุ 5%
3. อากาศ 25%
4. น้ำ 25%

ภาพที่ 1 องค์ประกอบของดินที่เหมาะแก่การปลูกพืช (%โดยปริมาตร)

ดังภาพที่ 1 อินทรียวัตถุในดินนั้นแม้ระดับที่เหมาะสมจะมีเพียง 5% โดยบริมาตร หรือ 3.5% โดยน้ำหนัก แต่เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อสมบัติของดินทางฟิสิกส์ เคมีและชีวภาพ ดินที่ใช้เพาะปลูกอินทรียวัตถุจะมีการสลายตัวโดยกิจกรรมของจุลินทรีย์อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องใส่ชดเชยเพื่อรักษาให้มีจุลินทรีย์ในระดับที่เหมาะสมตลอดไป แต่เกษตรกรโดยทั่วไปมักละเลยโดยการเผาตอซังพืชหรือไม่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อชดเชยส่วนที่สลายไปในรอบปี เป็นเหตุให้ดินมีอินทรียวัตถุต่ำ

แหล่งข้อมูล: คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา (2548)

อินทรียวัตถุในดินคืออะไร ?
อินทรียวัตถุในดิน คือ ส่วนที่เป็นสารอินทรีย์ซึ่งประกอบด้วย

1. เศษซากพืชหรือสัตว์ที่ย่อยสลายแล้ว
2. เซลล์และเนื้อเยื่อของจุลินทรีย์
3. สารอินทรีย์ต่างๆ ที่จุลินทรีย์สังเคราะห์ขึ้น

เกณฑ์ในการประเมินระดับอินทรียวัตถุในดินมีดังนี้

1) น้อยกว่า 1% คือ ต่ำ
2) 1 - 2% คือ ปานกลาง
3) 2 - 3% คือ ค่อนข้างสูง
4) มากกว่า 3% คือ สูง

อินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์ต่อพืชอย่างไรบ้าง ?
อินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์ต่อพืช 2 ประการ คือ

1) เป็นแหล่งของธาตุไนโตรเจน แต่ก็ให้ธาตุอื่นๆ โดยจะปล่อยธาตุอาหารจากการสลายตัวอย่างช้าๆ
2) บำรุงดินทางกายภาพ เคมีและชีวภาพ ดังรายละเอียดในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 อิทธิพลของอินทรียวัตถุต่อสมบัติของดินและการเจริญเติบโตของพืช

ผลต่อดิน ผลต่อพืช
ด้านกายภาพของดิน
1. เพิ่มการเกาะตัวของอนุภาคดินให้เป็นเม็ดดิน
2. เพิ่มเสถียรภาพของโครงสร้างดิน ก่อให้เกิดสมดุลระหว่างช่องขนาดเล็ก กลาง และใหญ่

1. รากพืชไชชอนได้ง่าย
2. ดินทนต่อการชะล้างและการกร่อน เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำ การแทรกซึมน้ำ การซึมซับน้ำ และการถ่ายเทอากาศของดินดีขึ้น
ด้านเคมีของดิน
1. เป็นแหล่งธาตุอาหาร มีหลายธาตุ ปลดปล่อยให้พืชอย่างช้าๆ และธาตุอาหารถูกชะล้างจากดินน้อย
2. ทำปฏิกิริยาคีเลชันกับไอออนของจุลธาตุในดิน
3. เพิ่มความจุในการแลกเปลี่ยนแคตไอออนของดิน (CEC)
4. ลดการตรึงฟอสฟอรัสในดิน

1. พืชได้รับธาตุอาหารหลายธาตุ เป็นแหล่งสำคัญ ของธาตุไนโตรเจน แต่ไม่มีผลตกค้างเป็นกรด เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมหรือยูเรีย
2. พืชดูดใช้จุลธาตุจากดินได้ดีขึ้น
3. ดินดูดซับธาตุอาหารพวกแคตไอออนไว้เป็นประโยชน์ต่อพืชได้มากขึ้นดิน (CEC)
4. พืชใช้ประโยชน์จากปุ๋ยฟอสเฟตได้มากขึ้น
ด้านชีวภาพของดิน
1. สภาพของดินเหมาะแก่การเจริญของจุลินทรีย์ ดินมีประชากรและกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์
มากขึ้น
2. เพิ่มปริมาณและกิจกรรมของสัตว์ในดิน

1. พืชได้รับประโยชน์จากวงจรธาตุอาหารที่เหมาะสมในดิน
2. การเคลื่อนย้ายและการสลายของซากพืชใหม่ๆ เกิดได้เร็ว

แหล่งข้อมูล: ยงยุทธ และคณะ (2554)

ปริมาณอินทรียวัตถุในดินของประเทศไทยสูง ปานกลาง หรือต่ำ ?

ดินที่ใช้เพาะปลูกในประเทศไทยส่วนมากมีอินทรียวัตถุอยู่ในเกณฑ์ต่ำถึงปานกลาง ดินเหล่านี้มักขาดธาตุไนโตรเจนและธาตุอื่นๆ การบำรุงดินมีวิธีการ ดังนี้

1. ไถกลบซากพืชและวัชพืชลงในดิน
2. ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักตามกำลังเท่าที่สามารถทำได้
3. หากผลการวิเคราะห์ดินแสดงว่ายังขาดธาตุใด ก็ใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มธาตุนั้นตามอัตราที่แนะนำ
4. เสริมด้วยปุ๋ยทางใบ

เอกสารอ้างอิง
คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา. 2548. ปฐพีวิทยาเบื้องต้น. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.กรุงเทพฯ.
ยงยุทธ โอสถสภา อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ และ ชวลิต ฮงประยูร. 2554. ปุ๋ยเพื่อการเกษตรยั่งยืน.
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ