GAP

GAP ย่อมาจากคำว่า “Good Agricultural Practice” ซึ่งแปลว่าเกษตรดีที่เหมาะสม เป็นระบบที่สร้างผลผลิตตรงตาม
มาตรฐานคุณภาพหรือได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้อง ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว
การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งเพื่อจำหน่าย ไม่มีปัญหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหรือเชื้อโรคต่างๆ ตกค้าง จึงปลอดภัยในการปฏิบัติงานและได้ผลผลิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค สามารถตรวจสอบและสอบทวนได้

การเข้าสู่ระบบ GAP
เกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าสู่ระบบ GAP ต้องยื่นคำร้องตามแบบ GAP-01 ซึ่งจะมีการตรวจประเมินระบบการจัดการคุณภาพการ
ปฏิบัติงานโดย “ผู้ตรวจรับรอง” ที่ได้รับมอบหมายจากกรมวิชาการเกษตร สิ่งที่กำหนดให้ประเมินคือ แหล่งน้ำ พื้นที่ปลูก
การใช้วัสดุอันตรายทางการเกษตร การเก็บรักษาและการขนย้ายผลิตผลภายในแปลง การบันทึกข้อมูล การผลิตให้ปลอดจากศัตรูพืช การจัดการกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพ การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

เทคโนโลยีการผลิต
กรมวิชาการเกษตรได้ให้คำแนะนำเทคโนโลยีการผลิตพืช 2 รูปแบบ คือ

1. เอกสาร เช่น ข้าวโพดหวาน
2. เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร http://www.doa.go.th โดยเลือกเรื่อง "ข้อมูลการเกษตร" ภายใต้เรื่องนี้ให้เลือก "ข้อมูลพืช GAP" ซึ่งมีคำแนะนำ 24 พืช

คำแนะนำที่พบไนเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร

1. ไม้ผลยืนต้น 5 ชนิด คือ ทุเรียน ลำไย ส้มโอ มะม่วง และส้มเขียวหวาน
2. ผัก 12 ชนิด คือ ผักกวางตุ้ง มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ผักคะน้า หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี พริก ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา
ผักกาดขาวปลี ข้าวโพดฝักอ่อน และหอมหัวแดง
3. ไม้ดอก 3 ชนิด คือ กล้วยไม้ กล้วยไม้ตัดดอก และปทุมมา
4. พืชอื่นๆ 4 ชนิด คือ สับปะรด กาแฟโรบัสตา มันสำปะหลัง และยางพารา

หัวข้อที่แนะนำในการปฏิบัติ

1. แหล่งปลูก อธิบายสภาพพื้นที่ ลักษณะดิน สภาพภูมิอากาศ และแหล่งน้ำที่เหมาะกับพืช
2. พันธุ์ ว่าด้วยการเลือกพันธุ์และแนะนำพันธุ์ที่นิยมปลูก
3. การปลูก เริ่มจากฤดูปลูกสำหรับพืชนั้น การเตรียมดิน และวิธีการปลูก
4. การดูแลรักษา แนะนำวิธีการให้ปุ๋ย การให้น้ำ และการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ
5. สุขลักษณะและความสะอาด ว่าด้วยการเก็บและทำความสะอาดอุปกรณ์และภาชนะ การเก็บสาร ป้องกันกำจัดศัตรูพืช
และปุ๋ยเคมีไว้ในที่ปลอดภัย การเก็บและทำลายวัชพืชตลอดจนพืชที่ป็นโรค
6. ศัตรูพืช และวิธีป้องกันกำจัด
7. คำแนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม
8. การเก็บเกี่ยว ว่าด้วยระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม และวิธีการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง
9. วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ได้แก่ การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว และการขนส่ง

การบันทึกข้อมูล
เกษตรกรควรบันทึกการปฏิบัติงานในขั้นตอนการผลิตทุกระยะ เพื่อให้ตรวจสอบได้หากเกิดข้อบกพร่องขึ้น และสามารถแก้ไขหรือปรับปรุงได้ทันท่วงที ได้แก่

1. สภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้นและปริมาณน้ำฝน
2. พันธุ์ วันที่ปลูก และระยะการเจริญเติบโตที่สำคัญ เช่น วันออกดอก และวันติดผล
3. วันที่ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ชนิด และอัตราปุ๋ย
4. วันที่ศัตรูพืชระบาด ชนิด และปริมาณศัตรูพืช
5. วันที่พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ชนิดและอัตราการใช้สาร
6. วันเก็บเกี่ยว ค่าใช้จ่าย ปริมาณ คุณภาพ ราคาผลผลิต และรายได้
7. ปัญหาและอุปสรรคตลอดฤดูปลูก การเก็บเกี่ยว และการขนส่ง เมื่อผ่านการตรวจสอบจะได้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช(GAP) จากกรมวิชาการเกษตร

ความเสี่ยงในกระบวนการผลิต
ความเสี่ยงในระบบการผลิต มี 4 ประการ คือ

1. การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและสารเคมีควบคุมศัตรูพืช
2. การปนเปื้อนของเชื้อโรคคน
3. การปนเปื้อนของธาตุโลหะหนักจากดิน น้ำ สารคลุกเมล็ด ฯลฯ
4. การปนเปื้อนระหว่างการเก็บเกี่ยว และการจัดการผลผลิต เกษตรกรจึงควรตรวจสอบแหล่งกำเนิดของการปนเปื้อนทั้ง 4 ประการข้างต้น และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว